การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพวิชาชีพระดับบัณฑิตศึกษา
(Graduate Study for Potential Professionals : GSPP)


           การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) เป็นการจัดกระบวนการทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการจัดการศึกษา
ในรูปแบบของการศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non – Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) โดยมุ่งให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self – directed Learning) มุ่งพัฒนาบุคคลให้สามารถพัฒนาตนเอง
และปรับตนเองให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองและเศรษฐกิจของโลก และด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่
กลายเป็นสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ที่สมบูรณ์

           จากข้อมูลสถิติจำนวนประชากรของประเทศไทย เดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ประชากรของประเทศไทยที่อยู่ในช่วงชั้นอายุ 60 ปี (731,854 คน)
มีจำนวนมากกว่าประชากรไทยที่มีอายุไม่ถึง 1 ปี (620,066 คน) และจำนวนประชากรไทยในช่วงอายุตั้งแต่ 35 ปีลงมา มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ประชากรของประเทศไทยมีอยู่ในช่วงชั้นอายุ 35 25 15 และ 5 ปี จำนวน 1,015,357 คน 962,544 คน 792,051 คน และ 796,090 คน ตามลำดับ ซึ่งการลดลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อจำนวนนิสิตที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการประชุมครั้งที่ 10/2560 เมื่อวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ได้มีมติเห็นชอบนโยบายการผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษา ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันตามที่คณะกรรมการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ก.ว.ช.) นำเสนอ โดยความเห็นของบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งหนึ่งในนโยบายนั้นคือ การสนับสนุนให้สาขาวิชาพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสม รองรับความต้องการการศึกษาของผู้สูงวัย ซึ่งมีสัดส่วนสูงในโครงสร้างประชากรปัจจุบัน เพื่อเพิ่มโอกาสการศึกษาต่อเนื่อง ตามปรัชญาการศึกษาตลอดชีวิต

           โครงการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพวิชาชีพระดับบัณฑิตศึกษา (Graduate Study Potential Professionals) หรือ GSPP จึงได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นมา ให้รองรับการศึกษาตลอดชีวิตตามแนวทางของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกทั้งยังรองรับการลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันระหว่างสถาบันสมาชิกของที่ประชุมคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทคบร.) ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อีกด้วย

วัตถุประสงค์ของโครงการ GSPP

           1. เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาต่อเนื่องในระดับบัณฑิตศึกษาให้กับผู้มีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาวิชาโดยไม่จำกัดอายุ
และผู้เรียนมีอิสระเลือกเรียนรายวิชาระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาวิชาที่ตนสนใจ ซึ่งเป็นการเสริมศักยภาพและความรู้ความสามารถตามอัธยาศัย

           2. เพื่อให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสะสมรายวิชาและขอโอนกรณีที่ต้องการเรียนในสาขาวิชาที่ตนสนใจ เพื่อรับการอนุมัติปริญญา

           ปัจจุบันโครงการ GSPP มีรายวิชาที่ให้เลือกเรียนได้ 38 วิชา ในระดับปริญญาเอก 6 สาขาวิชา และมีรายวิชาที่ให้เลือกเรียนได้ 1,198 วิชา
ในระดับปริญญาโท 66 สาขาวิชา

           โครงการ GSPP มีขั้นตอนในการดำเนินการโดยใช้ระบบร่วมกับกรณีของนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา (ภาคปกติ) ที่มีอยู่แล้ว ประกอบด้วยการรับสมัคร
การกำหนดรหัสสาขาวิชา การรายงานตัว การลงทะเบียนเรียนรายวิชา การเรียนและการประเมินผลรายวิชา การออกใบรายงานผลคะแนนและการโอนรายวิชา สำหรับใบรายงานผลคะแนนภายใต้โครงการ GSPP มีอายุ 5 ปีการศึกษา

           ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการ GSPP ประกอบด้วย ค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ค่าธรรมเนียม ค่าลงทะเบียนเรียน และค่าการจัดการอื่นๆ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในแต่ละสาขาวิชา ในส่วนของการจัดการเรียนการสอนของแต่ละรายวิชา GSPP เป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฉบับปัจจุบัน